ฟุตบอลโลกปี 2022 นั้นจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์แล้ว จึงไม่แปลกใจที่ตอนนี้จะมีกระแสและความตื่นเต้นมากมายจากแฟนบอลทั่วทุกสารทิศที่ตั้งตารอดูทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกรายการนี้

ว่ากันตามตรง ตอนนี้ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ถือว่าเป็นฟุตบอลโลกที่ไม่เหมือนใครเป็นอย่างมาก เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในฤดูหนาว และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะกาตาร์นั้นได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของสนามแข่งขัน

โดยฟุตบอลโลกในครั้งนี้จะใช้สนามแข่งเพียงแปดสนาม น้อยที่สุดนับตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 1978 ที่อาร์เจนติน่า วันนี้เราจะมาดูกันว่าแปดสนามที่จะใช้เป็นสังเวียนแข้งในฟุตบอลโลกปลายปีนี้นั้นมีสนามอะไรบ้าง และแต่ละสนามมีจุดเด่นอย่างไร

อัล จานูบ สเตเดี้ยม

สนาม 40,000 ที่นั่งแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 โดยตั้งอยู่ในเมืองอัล วาคราห์ เมืองที่อยู่ทางใต้ของนครหลวงโดฮาราว 22 กิโลเมตร โดยดีไซน์สนามแห่งนี้ สถาปนิก ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกชาวอังกฤษเชื้อสายอิรัก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากใบเรือ ที่พบได้ทั่วไปในกาตาร์ เพราะมีเรือสำหรับงมไข่มุกเยอะนั่นเอง

หลังคาที่โค้งและการตกแต่งภายนอกนั้นสื่อถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองอัล วาคราห์ และ การเดินเรือ นอกจากนี้ สนามยังจะทำให้แฟนบอลรู้สึกเหมือนว่าพวกเขากำลังดูฟุตบอลอยู๋บนเรือลำใหญ่ลำหนึ่งด้วย เพราะด้านในจะมีการตกแต่งให้เหมือนด้านในของเรือเช่นกัน ตัวอย่างเช่นคานต่าง ๆ ก็จะตกแต่งให้เหมือนกับกระโดงเรือ เป็นต้น

สนามกีฬานานาชาติคาลิฟา

สนามกีฬานานาชาติคาลิฟาเริ่มเปิดใช้งานในปี 1976 ก่อนจะมีการรีโนเวตและเปิดให้ใช้บริการอีกครั้งในปี 2017 ที่เมืองอัล เรย์ยัน ห่างไปทางตะวันตกของนครหลวงโดฮาราว 5 กิโลเมตร และถือได้ว่าสนามแห่งนี้เป็นสนามที่มีความขลังและมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่สุดในประเทศกาตาร์

โดยสนามสามารถจุคนได้สูงสุด 40,000 คน และเคยเป็นสนามที่ใช้ในรายการสำคัญ ๆ ระดับนานาชาติ มาแล้วหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียนเกมส์, กัลฟ์ คัพ หรือ เอเอฟซี เอเชียน คัพ

เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยม

เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยมตั้งอยู่ในเมืองการศึกษาของมูลนิธิกาตาร์ที่เมืองอัล เรย์ยัน ห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครหลวงโดฮาราว 13 กิโลเมตร โดยสนามสามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 40,000 คน และเริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ด้วยพิธีเปิดสนามสุดยิ่งใหญ่แบบดิจิตัล

สนามมีจุดเด่นในเรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสนามมีการใช้วัสดุรีไซเคิลกว่า 20% รวมถึงได้รับการประเมินระดับห้าดาวจากการประเมินความยั่งยืนระดับโลก หรือ GSAS อีกด้วย

อัล ธุมานา สเตเดี้ยม

อัล ธุมานา สเตเดี้ยม ตั้งอยู่ในเมืองอัล ธุมานา ห่างไปทางใต้ของนครหลวงโดฮาราว 12 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้งานครั้งแรกในเกมอาเมียร์ คัพ รอบชิงชนะเลิศ ที่อัล ซาดด์ เอาชนะ อัล เรย์ยัน ไปได้ในการดวลจุดโทษ เมือเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา

อิบราฮิม เอ็ม ไจดาห์ สถาปนิกที่ออกแบบสนาม 40,000 ที่นั่งแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก กาฟิยาห์ หมวกคลุมหัวที่ชายชาวพื้นเมืองตะวันออกกลางนิยมใส่กันอย่างแพร่หลาย โดยสนามแห่งนี้จะถูกใช้เป็นสนามในรอบก่อนรองชนะเลิศ

อัล เบห์ต สเตเดี้ยม

สนามอัล เบห์ต สเตเดี้ยม เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษจิกายน 2021 เมื่อกาตาร์ต้องเปิดบ้านรับการมาเยือนของบาห์เรนในนัดแรกของศึก อาหรับ คัพ สนามตั้งอยู่ในเมือง อัล คอร์ ห่างไปทางเหนือของนครหลวงโดฮาราว 35 กิโลเมตร และเป็นสนามขนาดใหญ่ที่สามารถจุแฟนบอลได้มากกว่า 60,000 คน

สนามอัล เบห์ต สเตเดี้ยมจะเป็นหนึ่งในแปดสนามของฟุตบอลโลกครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยจะมีเกมฟุตบอลโลกลงเตะกันที่สนามแห่งนี้เก้านัด หนึ่งในนั้นคือนัดเปิดสนามด้วย

สนามมีการตกแต่งที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ด้วยโครงสร้างแบบเต็นต์ขนาดใหญ่ที่คลุมด้านบนของสนามเอาไว้ โดยชื่อสนามแห่งนี้มาจาก “เบห์ต อัล ชาอาร์” ชื่อของเต็นต์ผ้าใบของชาวเร่ร่อนบริเวณกาตาร์และตะวันออกกลางในยุคโบราณ

หลังจบฟุตบอลโลกครั้งนี้ เก้าอี้ส่วนบนของสนามจะถูกถอดออกและบริจาคให้กับประเทศอื่น ๆ

974 สเตเดี้ยม

974 สเตเดี้ยม เป็นสนามที่มีความจุ 40,000 ที่นั่ง และเปิดใช้งานครั้งแรกในอีเวนต์พิเศษเมื่อวันที่ 21 พฤษจิกายน 2021 โดยนัดแรกที่ได้ประเดิมสนามแห่งนี้คือเกมนัดเปิดสนามศึก อาหรับ คัพ เมื่อวันที่ 30 พฤษจิกายน 2021

สนามแห่งนี้มีเอกลักษณ์ตรงที่ตัวสนามนั้นทำมาจากตู้คอนเทนเนอร์และเหล็กโมดูลาร์ รวมถึงยังเป็นสนามแห่งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่สามารถถอดและแยกเป็นชิ้นส่วนได้ โดยชื่อสนาม 974 นั้นมาจาก 974 คือรหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศของกาตาร์ รวมถึงจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการก่อสร้างสนามแห่งนี้ด้วย

หลังจากจบศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ สนามจะถูกแยกชิ้นส่วนและนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป

อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม

หลายคนอาจจะคุ้นชื่อสนามแห่งนี้ว่า อัล เรย์ยัน สเตเดี้ยมมากกว่า เพราะสนามแห่งนี้มีสองชื่อ โดยสนามถูกสร้างเมื่อปี 2003 แต่ต่อมาได้มีการรีโนเวตใหม่ และเปิดให้บริการอีกครั้งในวันชาติของกาตาร์ ในนัดชิงชนะเลิศของศึก อาเมียร์ คัพ

อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม เป็นสนามเหย้าของ อัล เรย์ยัน เอสซี ทีมยักษ์ใหญ่ในศึก กาตาร์ สตาร์ ลีก ตั้งอยู่ในเมือง อัล เรย์ยัน ห่างไปทางตะวันตกของนครหลวงโดฮาราว 20 กิโลเมตร บริเวณขอบทะเลทรายพอดิบพอดี

ข้อที่น่าชื่นชมของสนามแห่งนี้ก็คือกว่า 80% ของวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้างสนามแห่งนี้นั้นได้มาจากการทุบตึกที่ตั้งอยู่ก่อนหน้าบริเวณนี้ รวมถึงไม่มีการตัดต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ สนามอีกด้วย

ลูเซล สเตเดี้ยม

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 แฟนบอลกว่า 80,000 คนจะแห่มาชมเกมที่สนามที่สวยงามแห่งนี้แน่นอน เพราะสนามแห่งนี้จะเป็นสังเวียนฟาดแข้งของนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยสนามแห่งนี้ถูกออกแบบโดยบริษัทฟอสเตอร์และคณะ และตั้งอยู่ในเมืองลูเซล

สนามลูเซล สเตเดี้ยม เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากถ้วยชามทำมือของชาวอาหรับและมุสลิมในช่วงก่อตั้งอารยธรรม

โดยสนามแห่งนี้ยังเป็นสนามที่ใหญ่และจุแฟนบอลได้มากที่สุดในกาตาร์ด้วย จึงไม่แปลกใจที่นัดชิงชนะเลิศในฟุตบอลโลกครั้งประวัติศาสตร์จะลงเตะที่สนามแห่งนี้

อ่าน:  ความล้มเหลวในการป้องกันที่แพงที่สุดของพรีเมียร์ลีก
Leave A Reply